Hypocalcemia (ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ)

6563 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Hypocalcemia (ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ)

  ภาวะที่ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน อาจเกิดขึ้นได้หากร่างกายสูญเสียแคลเซียมปริมาณมาก หรือร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้อย่างเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุนหรือภาวะกระดูกบาง เนื่องจากแคลเซียมจำเป็นต่อระบบประสาท กล้ามเนื้อ กระดูก ฟัน และอวัยวะอื่น ๆ

  อาการของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ หรือไม่แสดงอาการให้เห็นในช่วงแรก แต่เมื่อมีความรุนแรงขึ้น อาจพบอาการดังต่อไปนี้
• เวียนศีรษะ
• เป็นตะคริว กล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือกล้ามเนื้อกระตุก  
• เห็นภาพหลอน หรือมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น รู้สึกวิตกกังวล สับสน ซึมเศร้า หงุดหงิด เป็นต้น
• มีอาการชา เสียวหรือปวดคล้ายถูกเข็มแทงตามใบหน้า ปาก มือ หรือเท้า
• สั่น หรือทรงตัวลำบาก
• กระดูกหักง่าย
• มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ
• หัวใจเต้นช้า
• ชัก

  นอกจากนี้ การขาดแคลเซียมยังทำให้เกิดผลกระทบกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในระยะยาวด้วย เช่น เล็บเปราะบาง ผมยาวช้า ผิวหนังบางหรือแห้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการรุนแรงหรือพบความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น รู้สึกชา สูญเสียความทรงจำ ประสาทหลอน หรือมีอาการชัก เป็นต้น

  สาเหตุของภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำกว่าปกติ
Hypocalcemia นั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อย คือ ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ต่ำ เพราะฮอร์โมนพาราไทรอยด์ (Parathyroid Hormone) จะทำหน้าที่ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจเกิดจากพันธุกรรม เป็นผลมาจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ หรือการป่วยเป็นมะเร็งบริเวณศีรษะและคอ

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิด Hypocalcemia มีดังนี้
• การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในวัยเด็ก
• การใช้ยาบางชนิดที่อาจลดการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย เช่น ยาเฟนิโทอิน ยาฟีโนบาร์บิทัล ยาไรแฟมพิซิน เป็นต้น
• การขาดสารอาหารหรือร่างกายดูดซึมสารอาหารผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถได้รับวิตามินและแร่ธาตุจากอาหารที่รับประทานได้อย่างเพียงพอ
• การแพ้อาหารที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ
• พันธุกรรม
• ระดับแมกนีเซียมหรือฟอสฟอรัสในร่างกายผิดปกติ
• ระดับวิตามินดีในร่างกายต่ำ ทำให้ดูดซึมแคลเซียมได้ยากขึ้น
• ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล
• โรคตับอ่อนอักเสบหรือโรคตับ
• ไตวาย
• อาการช็อคเหตุพิษติดเชื้อ
• การถ่ายเลือดปริมาณมาก
• การทำเคมีบำบัด
• ฟอสเฟตในเลือดสูง
• การขาดวิตามินซี
• กลุ่มอาการกระดูกหิว (Hungry Bone Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายดึงแคลเซียมและฟอสเฟตจากกระแสเลือดไปยังกระดูก และมักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด ภาวะหัวใจวาย หรือการออกกำลังกายอย่างหนัก

นอกจากนี้ บุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงเกิด Hypocalcemia ได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย เช่น ทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ ผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ ผู้หญิงที่ประจำเดือนขาด และคนที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน เป็นต้น

  Cr. www.pobpad.com 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้